กระทรวงเกษตรฯ เสนอ กนย. พิจารณาโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท หวังสนับสนุนเงินลงทุนให้สถาบันเกษตรกรได้ขยายกำลังการผลิต

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ในระยะสั้น ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยในขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 1,193,332 ครัวเรือน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 มีการบันทึกข้อมูลลงระบบแล้ว 1,038,842 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 13.57 ล้านไร่ โดยเป็นผู้ที่พร้อมตรวจสอบแปลงได้ จำนวน 727,517 ครัวเรือน และผู้ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบแปลงในขณะนี้ได้ จำนวน 312,325 ครัวเรือน ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรที่มีพื้นที่นอกเอกสารสิทธิ์ 36,023 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 449,033 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเหนือเอกสารสิทธิ์ของกรมป่าไม้ 46 รายการ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีผู้รับรอง 40,322 ราย พื้นที่ปลูก 776,903 ไร่ โดยเป็นสวนยางพาราที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถกรีดได้ 80,000 ครัวเรือน และมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแต่ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 141,186 ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบแปลงปลูกทุกแปลง จำนวน 622,217 ครัวเรือน ตรวจสอบเสร็จและออกใบรับรองแล้ว จำนวน 103,205 ครัวเรือน 140,727 แปลง เกษตรกรได้รับเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว จำนวน 48,152 ครัวเรือน 65,678 แปลง เป็นเงิน 848 ล้านบาท

          นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท โดยมี ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินสนับสนุนการลงทุนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากโรงงานแปรรูปยางที่จัดสร้างไว้แล้ว หรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ในการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร ซึ่งดำเนินการแปรรูปยางพาราทั้งโรงงานยางแท่ง โรงงานยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน โรงงานยางคอมปาวด์ โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานยางเครป โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินอุดหนุนจ่ายขาดจากงบกลางประจำปีงบประมาณ 2557 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 1,550 ล้านบาท สำหรับเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับสถาบันเกษตรกร ตามวงเงินที่ ธ.ก.ส. จะให้กู้ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร มีระยะเวลาในการขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล 5 ปี เป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยปีละ 250 ล้านบาท รวมเป็นเงินขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท

           "โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการช่วยชะลออุปทานยางพาราในตลาดจากการแปรรูปยางพาราของสถาบันเกษตรกร เพื่อรอจำหน่ายเมื่อเห็นว่ามีราคาที่เหมาะสม ในปริมาณยางเดือนละไม่น้อยกว่า 111,990ตัน หรือปีละประมาณ 900,000 ตัน ซึ่งคิดจากระยะเวลาการกรีดยางปีละ 8 เดือน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรในการขยายกำลังการผลิต ทั้งนี้ จะได้นำมติที่ประชุมดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายชวลิตกล่าว


THR Organic รับผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มูลค้างคาวแท้ คุณภาพสูงในราคาโรงงาน !!!